RSS
Container Icon

ดาวเรือง มาลัยนิยม

ชื่อวิทยาศาสตร์             Tagetes spp.

ชื่อวงศ์                        COMPOSITAE

ชื่อสามัญ                     Marigolds

ชื่ออื่นๆ                       ดาวเรือง



ลักษณะทั่วไป

              ถ้าพูดถึงดอกดาวเรืองน้อยคนมากที่จะไม่รู้จักเพราะดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่เราเห็นและคุ้นเคยกันมาช้านาน ตามงานพิธีต่างๆดอกไม้ที่นิยมนำมาใช้แน่นอนต้องเป็นดาวเรืองเพราะชื่อที่เป็นมงคลของดอกไม้อันหมายรวมไปถึงความรุ่งเรืองโชติช่วงของชีวิตทั้งสีของดอกดาวเรืองเองที่มีสีเหลืองทองอร่ามดั่งทองอันมีค่ากลิ่นหอมที่ชื่นใจเหล่านี้จึงทำให้ดาวเรืองกลายเป็นดอกไม้ที่นิยมมาก ดาวเรืองเป็นไม้ดอกต้นสูงประมาณ 25-60 ซม. ใบเป็นสีเขียวรูปหอก ปลายแหลม ขอบหยัก ดอกเป็นช่อกระจุกเดี่ยวที่ปลายยอด ดอกวงนอกกลีบดอกเป็นรูปรางน้ำ โคนเป็นหลอดเล็ก ปลายแผ่ ดอกวงในกลีบดอกเป็นหลอดมีหลายสี เช่น สีส้ม เหลืองทอง ขาว และสองสีในดอกเดียวกัน และมีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อนกลิ่มหอม พันธุ์ที่ใช้ปลูก เช่น Panther, Red Brocade, Dusty Rust, Midas Touch, Matador, Petite Gold ซึ่งปัจุบันนี้ดอกดาวเรืองได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวสวนหลายๆพื้นที่แล้วด้วย



การปลูกและดูแลรักษา

              ดาวเรืองมีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกเพื่อตัดดอกไปจำหน่าย ได้แก่ พันธุ์ซอฟเวอร์เรน ทอรีดอร์ และดับเบิ้ล-อีเกิ้ล ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 8.5-10 เซนติเมตร



              ดาวเรืองเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจัดๆ จึงควรปลูกในที่กลางแจ้งเพื่อให้ได้รับแสงแดดโดยตรงอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด แต่ถ้าจะให้ได้ดาวเรืองที่มีพุ่มต้นสมบูรณ์ ดอกดกใหญ่ และมีคุณภาพ แล้ว ดินที่ใช้ปลูกควรมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ และมีการระบายน้ำดี การรดน้ำก็เป็นไปตามปกติ นอกเสียจากปลูกดาวเรืองในดินทรายจำเป็นต้องรดน้ำทั้งเช้าและเย็นเพราะดินทรายระบายน้ำได้ดีเกินไป


  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ต้นพยอม หอมขจร

ชื่อวิทยาศาสตร์      Shorea Roxburghii

ชื่อวงศ์                 Dipterocarpaceae

ชื่อสามัญ              Shorea

ชื่ออื่นๆ                พยอมมีชื่อพื้นเมืองอื่นๆอีกคือ กะยอม (เชียงใหม่) ชะยอม (ลาว)ขะยอมดง
                         พะยอมดง (ภาคเหนือ) แคน (ร้อยเอ็ด) เชียง เชี่ยว (กะเหรี่ยง – เชียงใหม่ )
                         พะยอม (ภาคกลาง) พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี – ปราจีนบุรี) ยางหยวก
                         (น่าน)



ลักษณะทั่วไป

              ต้นพยอม เป็นไม้ยืนต้นโบราณที่เรารู้จักกันดี ความสูงขนาด 15–30 เมตร ทรงพุ่มกลม เปลือกสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว แตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก เป็นใบเดี่ยวเรียงเรียบสลับ ออกดอกช่อใหญ่สีขาวถึงขาวนวล มีกลิ่นหอมขจรไปไกล นิยมออกตามกิ่งและที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบโคนเชื่อมติดกัน เมื่อดอกย่อยบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 ซม. ออกดอกพร้อมกันทั้งต้นบางต้นที่มีดอกดกมากๆจะไม่มีมีใบเลยทำให้มองเหมือนต้นไม้ในเมืองหนาวดูแล้วสบายตาแถมสดชื่นด้วยกลิ่นหอมๆอีกด้วย โดยจะออกดอกในช่วงเดือน ธันวาคม ถึง กุมภาพันธ์ ผลมีลักษณะรีกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปลีกยาว 3 ปลีกสั้น 2 ปลีกคล้ายผลยาง คนโบราณเชื่อกันว่า ถ้าบ้านใดปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีอุปนิสัยที่อ่อนน้อม เพราะพะยอม คือ การยินยอม ตกลง ผ่อนผันประณีประนอม นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่า จะไม่ขัดสน เพราะบุคคลทั่วไปมีความเห็นใจและยอมให้สิ่งที่ดีงาม และ ลักษณะของดอกยังเป็นสีเหลืองทองและมีกลิ่นหอมยวนใจ อีกด้วย








ประโยชน์

              เนื้อไม้นิยมไปใช้ในการก่อสร้างเพราะเนื้อแข็งแรงเหนียวทนทาน เช่น ใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ ใช้ทำพื้นบ้าน เสาบ้านก็ได้ เป็นต้น



มีสรรพคุณทางยา

              เปลือกต้น รสฝาด ต้มดื่มแก้ท้องร่วง แก้ลำไส้อักเสบ ฝนทาสมานบาดแผล ชำระแผลทุบใส่น้ำตาลสดกันบูด
              ดอก รสหอมสุขุม ปรุงเป็นยาแก้ลม บำรุงหัวใจ ลดไข้

              ดอกสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงดอกพยอม หรือทางอีสานนิยมนำมาทำ ซุปดอกพยอม



การปลูก

              พะยอมเป็นไม้ที่ชอบดินทรายหรือดินที่ระบายน้ำดี เมื่อปลูกในดินเหนียวและแฉะพบว่าออกดอกน้อยมาก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง





  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ต้นมะยม ไม้มงคลของไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์            Phyllanthus acidus Skeels

ชื่อวงศ์                       EUPHORBIACEAE

ชื่อสามัญ                    Star Gooseberry

ชื่อท้องถิ่น                  ทั่วไป เรียก มะยม, ภาคอีสาน เรียก หมักยม, หมากยม, ภาคใต้ เรียก
                               ยม ลูกยม



ลักษณะทั่วไป

              มะยมเป็นไม้มงคลอีกชนิดที่คนไทยเราคุ้นเคยและใกล้ชิดกันมานาน สำหรับที่ว่าเป็นไม้มงคลเพราะตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง กล่าวว่ามะยมเป็นต้นไม้ที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตก (ประจิม) เพื่อป้องกัน ความถ่อย ถ้อยความ และผีร้ายมิให้มากล้ำกรายเพราะถือว่าเป็นไม้ชื่อคล้ายพระญายมราช และในพิธีมงคลเรามักจะเห็นว่าพระสงฆ์นำก้านมะยมมาพรมน้ำมนต์ในพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย ในบางตำราก็ว่า เป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม ปลูกแล้วผู้คนจะได้นิยมชมชอบเหมือนมี นะเมตตามหานิยม มะยมเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3–10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณ ปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล ใบ เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบ สลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20–30 คู่ ก้นใบค่อนข้างกลม ด้านบนใบสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีขาวนวลอมเขียว ดอกออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่งก้านที่ไม่มีใบ เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้มีมากกว่าดอกตัวเมีย บางครั้งมีเฉพาะดอกตัวผู้ทั้งต้น จึงไม่ติดผลเลย เรียกกันว่า มะยมตัวผู้ ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ ผลมีรสเปรี้ยวแต่อาจมีบางสายพันธุ์ที่ออกรสหวาน เมื่อลูกยัง อ่อนนั้นจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลมเป็นพูแบบเดียวกับผล แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด นิยมนำมารับประทานแบบลูกสดหรือนำมาดองจิ้มกับพริกเกลือหรือแถวอิสานนิยมมาตำแบบส้มตำก็อร่อยเช่นกันส่วนใบอ่อนก็จิ้มน้ำพริกได้ และในปัจุบันนี้มีการนำมาทำเป็นแยมมะยม, ไวน์มะยมอีกด้วย




การปลูก

              มะยมเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีทั้งที่แดดจัด หรือในที่ร่มรำไร ปลูกขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุย มีความชื้นพอเหมาะ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด



สรรพคุณทางยา
  •  ราก รสจืด สรรพคุณแก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ช่วยซับน้ำเหลืองให้แห้ง แก้ประดง ดับพิษเสมหะ
  •  เปลือกต้น รสจืด สรรพคุณแก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ และแก้เม็ดผดผื่นคัน
  •  ใบ รสจืดมัน ปรุงเป็นส่วนประของยาเขียว สรรพคุณแก้ไข้ ดับพิษไข้ บำรุงประสาท ต้มร่วมกับใบหมากผู้หมากเมียและใบมะเฟืองอาบแก้คัน ไข้หัด เหือด และสุกใส
  •  ดอก ดอกสดใช้ต้มกรองเอาน้ำแก้โรคในตา ชำระล้างในตา
  •  ผล รสเปรี้ยวสุขุม กัดเสมหะ แก้ไอ บำรุงโลหิต และระบายท้อง



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ต้นโมก 1 ใน 9 ต้นไม้มงคลของไทย

ชื่อสามัญ              Moke

ชื่อวิทยาศาสตร์      Wrightia religiosa.

วงศ์                     APOCYNACEAE

ชื่ออื่น                  โมกหลวงและยังมีชื่อพื้นเมืองอื่นๆอีกดังนี้ ปิดจงวา (เขมร สุรินทร์) โมกซ้อน (กลาง) โมกบ้าน (กลาง) และ หลักป่า (ระยอง)



ลักษณะทั่วไป

              โมกเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางที่คนไทยเราคุ้นเคยมากเช่นกัน พบตามเรือกสวนไร่นาและตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไปลำต้นมีความสูงประมาณ 5–12 เมตร ผิวเปลือกมีสีน้ำตาลดำ ลำต้นกลมเรียบมีจุดเล็กๆ สีขาวประทั่วต้น แตกกิ่งก้านสาขารอบลำต้นไม่เป็นระเบียบ ใบเป็นใบเดียวออกเรียงกันเป็นคู่ตามก้านใบ มีขนาดเล็กรูปไข่ ปลายใบมนแหลม โคนใบแหลม คล้ายใบแก้ว เนื้อใบบางสีเขียว ออกดอกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆช่อ ละ 4-8 ดอก โดยจะคว่ำหน้าลงสู่พื้นดินมีกลีบดอก 5 กลีบ มีทั้งดอกลา และดอกซ้อน ดอกบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นโมกไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความสุขความบริสุทธิ์เพราะโมกหรือโมกขหมายถึงผู้ที่หลุดพ้นด้วยทุกข์ทั้งปวง สำหรับส่วนของดอกก็มีลักษณะ สีขาว สะอาด มีกลิ่นหอมสดชื่นตลอดวัน นอกจากนี้ยังช่วยคุ้มครองปกป้องภัยอันตรายเพราะต้นโมกบางคนเรียกว่าต้นพุทธรักษาดังนั้นเชื่อว่าต้นโมกสามารถคุ้มกันรักษาความปลอดภัยทั้งปวงจากภายนอกได้เช่นกัน และยังเชื่ออีกว่าส่วนของเปลือกต้นโมกสามารถใช้ป้องกันอิทธิฤทธิ์ของพิษสัตว์ต่างๆ ได้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นโมกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ สำหรับผลจะออกเป็นคู่มีขนาดเล็กยาวคล้ายฝักถั่วเขียวยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษณะโค้งงอเข้าหากัน ภายในมีเมล็ดเรียงอยู่เป็นจำนวนมาก




การปลูก

มีสองวิธี
              หากปลูกลงดิน ขนาดหลุมปลูก 30x30x30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:ดินร่วน อัตรา 1:2 ผสมดินปลูก

              หากปลูกในกระถาง ใช้กระถางทรงสูงขนาด 12–18 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:ขุย มะพร้าว:ดินร่วน อัตรา 1:1:1 ผสมดินปลูก ควรเปลี่ยนกระถางบ้างแล้วแต่ขนาดของการเจริญเติบโต และเพื่อเปลี่ยนดินใหม่ทดแทนดินเดิม



การขยายพันธุ์

              การตอน การเพาะเมล็ด การปักชำ วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การเพาะเมล็ด การปักชำ

การดูแลรักษา

              แสง ต้องการแสงแดดปานกลาง จนถึงแดดจัด หรือกลางแจ้ง น้ำ ต้องการน้ำในระดับปานกลาง ควรให้น้ำ 5–7 วัน/ครั้ง ดิน ดินร่วนซุย ความชื้นปานกลางปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1–2 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ปีละ 4–6 ครั้ง โมก เป็นพันธุ์ไม้อีกชนิดหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการทำไม้ดัด เนื่องจากมีรูปทรงของต้นที่สวยงาม และมีอายุยืนนาน ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพธรรมชาติพอสมควร



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ต้นกันเกรา 1 ใน 9 ต้นไม้มงคลของไทย

ชื่อสามัญ              Anan, Tembusu

ชื่อวิทยาศาสตร์      Fagraea fragrans Roxb.

วงศ์                     LOGANIACEAE

ชื่ออื่นๆ                กันเกรา (ภาคกลาง), ตะมะซู ตำมูซู (มลายู-ภาคใต้), ตาเตรา (เขมร-ภาคตะวันออก), ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้), มันปลา (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)



ลักษณะทั่วไป

               กันเกรามีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลาง เรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้ เรียก ตำแสง หรือตำเสา ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อกันเกรา หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ชื่อตำเสา คือ จะเป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่างๆเจาะกิน ชื่อมันปลา น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด






               ต้นกันเกรามีลักษณะต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เนื้อไม้กันเกรานับเป็นเนื้อไม้ชนิดดียิ่งอย่างหนึ่ง เพราะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทน ทานมาก ทนปลวกได้ดี ตกแต่งง่าย ขัดเงาได้งดงาม เหมาะสำหรับทำพื้นบ้าน ทำเสาเรือน (มีบรรยายไว้ใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ว่า "แก่น ทำเสาทนนัก" และชื่อในภาคใต้คือต้นทำเสา) ทำเครื่องเรือน ทำโลงศพของชาวจีน (หีบจำปา) เหมาะแก่การแกะสลัก เป็นต้น มีชื่อทางการค้าในภาษาอังกฤษว่า Anan แต่มีจำหน่ายในตลาดน้อย เพราะค่อนข้างโตช้า และไม่ขึ้นเป็นป่าพื้นที่กว้างใหญ่เหมือนไม้เศรษฐกิจชนิดอื่น เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปมนขนาดกว้าง 2.5 - 3.5 เซนติเมตร ยาว 8 - 11 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือยาวเรียว ฐานใบแหลม โคนมน ใบเขียวมันวาวหนา มีทรงพุ่งเป็นทรงฉัตรแหลมสวยงาม ดอก จะออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งลักษณะดอกตูมจะคล้ายหลอดแตรปลายหลอดจะเป็นกลีบ 5 กลีบปลายมนบานม้วนเกสรตัวผู้จะโผล่พ้นดอกออกมาแต่ละช่อจะมีดอกย่อยราว 15-25 ดอก เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาวสามารถบานติดต่อกันร่วมอาทิตย์ แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อเริ่มจะโรยร่วงลงสู่พื้น กลิ่นดอกหอมขจรชื่นใจและกลิ่นดอกนั้นหอมลอยไปไกลมาก ผลมีลักษณะกลมๆเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มม. สีส้มแล้วเปลี่ยนไปเป็นสีแดงเลือดนกเมื่อแก่เต็มที่ มีเมล็ดขนาดเล็กเป็น จำนวนมากนิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำชอบแสงแดด ทั่วทุกภาคของประเทศไทยออกดอกช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน - กรกฎาคม



              กันเกรามีความสวยงามและกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังเป็นต้นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก และพะยูง ที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเมื่อเวลาก่อสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล นอกจากนั่นคนอีสานยังนำมาบูชาพระโดยเฉพาะเมื่อเวลางานบุญบวชนาคช่วงเดือนพฤษภาคมหรือเดือน 6 ของทุกปี ก่อนที่จะถึงวันบวชนาคผู้ที่จะบวชนาคต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจอย่างดี เรียกว่า การเข้านาค ผู้ที่จะบวชนาคซึ่งต้องมาเข้านาคนั้นจะต้องแต่งกายชุดสุภาพ มีผ้าแพรหรือผ้าขาวม้าพับอย่างงามพาดบ่า รวมทั้งละเว้นอบายมุขต่างๆ พิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาคจะมีการแห่ดอกไม้ก็คือดอกมันปลาหรือดอกกันเกรา จุดเริ่มต้นของขบวนอยู่ที่วัดจากนั้นก็เคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนน บ้านเรือนท้องไร่ ท้องนา เพื่อไปเก็บดอกมันปลามาบูชาพระ พร้อมที่จะเข้าพิธีอุปสมบท ในระหว่างการแห่ก็จะมีการตีกลองร้องเพลงไปโดยตลอด เวลาเริ่มแห่ก็ช่วงบ่ายๆพอขบวนจะกลับถึงวัดก็ใกล้ค่ำ พิธีกรรมต่อไปคือนำช่อของดอกมันปลาที่เก็บมาในขบวนแห่จุ่มน้ำแล้วสะบัดให้น้ำจากดอกมันปลาไปสรงพระพุทธรูปบูชาขอพรเป็นอันเสร็จพิธี ผู้ที่ร่วมพิธีกรรมตั้งแต่การแห่จนแล้วเสร็จพิธีจะมีพระ 1 รูป สามเณร คนที่จะอุปสมบท หญิงสาวที่อาจจะเป็นแฟนหรือเพื่อนๆของผู้ที่จะอุปสมบท รวมทั้งเด็กๆด้วย พิธีกรรมนี้จะทำจนกว่าจะถึงวันอุปสมบท เมื่อถึงวันอุปสมบทก็มีพิธีกรรมตามประเพณีซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้

ประโยชน์ของกันเกรา

              เนื่องจากกันเกราเป็นต้นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย คนไทยจึงรู้จักคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากกันเกราหลายด้านด้วยกัน ด้านใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ตำราประมวลสรรพคุณยาไทยว่า ด้วยพฤกษชาติฯ ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพนฯ บรรยายสรรพคุณเอาไว้ว่า "แก่น : รสเฝื่อน ฝาด ขม เข้ายาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น แก้หืด ไอ มองคร่อ (โรคชนิดหนึ่ง เสมหะแห้งอยู่ในลำหลอดปอด) ริดสีดวง ท้องมาน แน่น หน้าอก ลงท้องเป็นมูกเลือด แก้พิษ ฝีกาฬ บำรุงม้าม แก้เลือดลมพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ เปลือกบำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อน" ในตำราบางเล่มมีสรรพคุณเพิ่มเติมคือ "บำรุงร่างกาย แก้ปวด ตามข้อ แก้ไข้"นอกจากแก่นแล้ว เปลือกของกันเกราก็ใช้ทำยาได้ แต่สรรพคุณน้อยกว่าแก่น หลายตำราจึงไม่ได้เอ่ยถึงสรรพคุณของเปลือกเลย

การขยายพันธุ์

              โดยการเพาะเมล็ด หรือโดยการปักช้ำก็ได้

ถิ่นกำเนิด

              ป่าเบญจพรรณและตามที่ใกล้แหล่งน้ำใน ประเทศอินเดีย, มาเลเซีย, พม่า, เวียดนาม และประเทศไทย




  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS