RSS
Container Icon

ต้นกันเกรา 1 ใน 9 ต้นไม้มงคลของไทย

ชื่อสามัญ              Anan, Tembusu

ชื่อวิทยาศาสตร์      Fagraea fragrans Roxb.

วงศ์                     LOGANIACEAE

ชื่ออื่นๆ                กันเกรา (ภาคกลาง), ตะมะซู ตำมูซู (มลายู-ภาคใต้), ตาเตรา (เขมร-ภาคตะวันออก), ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้), มันปลา (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)



ลักษณะทั่วไป

               กันเกรามีชื่อเรียกต่างกันไปคือ ภาคกลาง เรียก กันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา ส่วนภาคใต้ เรียก ตำแสง หรือตำเสา ซึ่งถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อันมีชื่อเป็นมงคลและมีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์ คือชื่อกันเกรา หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ชื่อตำเสา คือ จะเป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่างๆเจาะกิน ชื่อมันปลา น่าจะเป็นลักษณะของดอกที่เหมือนกับไขมันของปลาเมื่อลอยน้ำไขมันของปลาในถ้วยน้ำแกง โดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามันที่ปลาจะมีความมันและเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด






               ต้นกันเกรามีลักษณะต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เนื้อไม้กันเกรานับเป็นเนื้อไม้ชนิดดียิ่งอย่างหนึ่ง เพราะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทน ทานมาก ทนปลวกได้ดี ตกแต่งง่าย ขัดเงาได้งดงาม เหมาะสำหรับทำพื้นบ้าน ทำเสาเรือน (มีบรรยายไว้ใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ว่า "แก่น ทำเสาทนนัก" และชื่อในภาคใต้คือต้นทำเสา) ทำเครื่องเรือน ทำโลงศพของชาวจีน (หีบจำปา) เหมาะแก่การแกะสลัก เป็นต้น มีชื่อทางการค้าในภาษาอังกฤษว่า Anan แต่มีจำหน่ายในตลาดน้อย เพราะค่อนข้างโตช้า และไม่ขึ้นเป็นป่าพื้นที่กว้างใหญ่เหมือนไม้เศรษฐกิจชนิดอื่น เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปมนขนาดกว้าง 2.5 - 3.5 เซนติเมตร ยาว 8 - 11 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือยาวเรียว ฐานใบแหลม โคนมน ใบเขียวมันวาวหนา มีทรงพุ่งเป็นทรงฉัตรแหลมสวยงาม ดอก จะออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งลักษณะดอกตูมจะคล้ายหลอดแตรปลายหลอดจะเป็นกลีบ 5 กลีบปลายมนบานม้วนเกสรตัวผู้จะโผล่พ้นดอกออกมาแต่ละช่อจะมีดอกย่อยราว 15-25 ดอก เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาวสามารถบานติดต่อกันร่วมอาทิตย์ แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อเริ่มจะโรยร่วงลงสู่พื้น กลิ่นดอกหอมขจรชื่นใจและกลิ่นดอกนั้นหอมลอยไปไกลมาก ผลมีลักษณะกลมๆเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มม. สีส้มแล้วเปลี่ยนไปเป็นสีแดงเลือดนกเมื่อแก่เต็มที่ มีเมล็ดขนาดเล็กเป็น จำนวนมากนิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำชอบแสงแดด ทั่วทุกภาคของประเทศไทยออกดอกช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน - กรกฎาคม



              กันเกรามีความสวยงามและกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังเป็นต้นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก และพะยูง ที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเมื่อเวลาก่อสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล นอกจากนั่นคนอีสานยังนำมาบูชาพระโดยเฉพาะเมื่อเวลางานบุญบวชนาคช่วงเดือนพฤษภาคมหรือเดือน 6 ของทุกปี ก่อนที่จะถึงวันบวชนาคผู้ที่จะบวชนาคต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจอย่างดี เรียกว่า การเข้านาค ผู้ที่จะบวชนาคซึ่งต้องมาเข้านาคนั้นจะต้องแต่งกายชุดสุภาพ มีผ้าแพรหรือผ้าขาวม้าพับอย่างงามพาดบ่า รวมทั้งละเว้นอบายมุขต่างๆ พิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาคจะมีการแห่ดอกไม้ก็คือดอกมันปลาหรือดอกกันเกรา จุดเริ่มต้นของขบวนอยู่ที่วัดจากนั้นก็เคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนน บ้านเรือนท้องไร่ ท้องนา เพื่อไปเก็บดอกมันปลามาบูชาพระ พร้อมที่จะเข้าพิธีอุปสมบท ในระหว่างการแห่ก็จะมีการตีกลองร้องเพลงไปโดยตลอด เวลาเริ่มแห่ก็ช่วงบ่ายๆพอขบวนจะกลับถึงวัดก็ใกล้ค่ำ พิธีกรรมต่อไปคือนำช่อของดอกมันปลาที่เก็บมาในขบวนแห่จุ่มน้ำแล้วสะบัดให้น้ำจากดอกมันปลาไปสรงพระพุทธรูปบูชาขอพรเป็นอันเสร็จพิธี ผู้ที่ร่วมพิธีกรรมตั้งแต่การแห่จนแล้วเสร็จพิธีจะมีพระ 1 รูป สามเณร คนที่จะอุปสมบท หญิงสาวที่อาจจะเป็นแฟนหรือเพื่อนๆของผู้ที่จะอุปสมบท รวมทั้งเด็กๆด้วย พิธีกรรมนี้จะทำจนกว่าจะถึงวันอุปสมบท เมื่อถึงวันอุปสมบทก็มีพิธีกรรมตามประเพณีซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้

ประโยชน์ของกันเกรา

              เนื่องจากกันเกราเป็นต้นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย คนไทยจึงรู้จักคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากกันเกราหลายด้านด้วยกัน ด้านใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ตำราประมวลสรรพคุณยาไทยว่า ด้วยพฤกษชาติฯ ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพนฯ บรรยายสรรพคุณเอาไว้ว่า "แก่น : รสเฝื่อน ฝาด ขม เข้ายาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น แก้หืด ไอ มองคร่อ (โรคชนิดหนึ่ง เสมหะแห้งอยู่ในลำหลอดปอด) ริดสีดวง ท้องมาน แน่น หน้าอก ลงท้องเป็นมูกเลือด แก้พิษ ฝีกาฬ บำรุงม้าม แก้เลือดลมพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ เปลือกบำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อน" ในตำราบางเล่มมีสรรพคุณเพิ่มเติมคือ "บำรุงร่างกาย แก้ปวด ตามข้อ แก้ไข้"นอกจากแก่นแล้ว เปลือกของกันเกราก็ใช้ทำยาได้ แต่สรรพคุณน้อยกว่าแก่น หลายตำราจึงไม่ได้เอ่ยถึงสรรพคุณของเปลือกเลย

การขยายพันธุ์

              โดยการเพาะเมล็ด หรือโดยการปักช้ำก็ได้

ถิ่นกำเนิด

              ป่าเบญจพรรณและตามที่ใกล้แหล่งน้ำใน ประเทศอินเดีย, มาเลเซีย, พม่า, เวียดนาม และประเทศไทย




  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS